วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

หุ่นยนต์แยกขยะพูดได้

หุ่นยนต์แยกขยะพูดได้ ไอเดีย 3 หนุ่มเมืองขอนแก่น
http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you02070250&day=2007/02/07&sectionid=0311
"ขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ ที่ช่วยรักษาความสะอาดครับ"
ไม่ใช่เสียงเด็กน้อยรักความสะอาด แต่เป็นเสียงหุ่นยนต์แยกขยะพูดได้ ที่จะดังขึ้นทุกครั้งเมื่อมีคนนำขยะมาทิ้ง
ไอเดียเก๋ๆ นี้มาจากความคิดของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง ถนนเหล่านาดี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ช่วยกันสร้าง "หุ่นยนต์แยกขยะพูดได้" ตั้งไว้ที่หน้าอาคาร 1 ของโรงเรียน เป็นถังขยะสีเหลืองเหมือนถังขยะทั่วไป สูง 1.20 เมตร กว้าง 60 เซนติเมตร ด้านหน้าเขียนว่า "ROBOT WK 2006" ฝาปิดมีลักษณะเหมือนหัวมดแดงและมีล้อเลื่อนอยู่ด้านล่าง
ทุกครั้งที่มีเด็กนักเรียนเปิดฝาออกแล้วทิ้งขวดแก้วลงไป จะได้ยินเสียงพูดจากถังขยะว่า "ขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ ที่ช่วยรักษาความสะอาดครับ" ขยะที่ทิ้งลงไปก็จะถูกจับแยกออกเป็นชั้นๆ โดยมีแผ่นพลาสติกใสกันอยู่ 2 ขั้น
นายเจริญ ช่วงชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง กล่าวว่า ถังขยะพูดได้เป็นฝีมือของด.ช.พีระยุทธ ชินอัน ด.ช.กฤษดา ชูสังกิจ และด.ช.ภาณุพงศ์ จันทร์โสดา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง โดยมีคุณครูณรงค์ศักดิ์ เอื้องสัจจะ เป็นที่ปรึกษา
เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2549 ผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนทั้ง 3 คน เป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์น้อยระดับประเทศ ในงานเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหุ่นยนต์แยกขยะพูดได้ของโรงเรียนเทศบาลวัดกลางคว้ารางวัลชนะเลิศ และมีหลายโรงเรียนมาขอรูปแบบเพื่อนำไปติดตั้งในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นต่อไป
ด.ช.พีระยุทธเล่าว่า ก่อนจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้พวกเราเห็นเพื่อนนักเรียนด้วยกันทิ้งขยะลงไปรวมกันในถังขยะ จึงเกิดความคิดขึ้นว่าทำอย่างไรจะสามารถแยกขยะในถังขยะได้ พร้อมกับมีเสียงพูดขอบคุณคนที่ทิ้งขยะด้วย เพื่อให้นักเรียนชั้นเล็กๆ สนใจนำขยะมาทิ้งลงถัง จึงไปปรึกษาคุณครูณรงค์ศักดิ์
ด้านด.ช.กฤษดา ชูสังกิจ เล่าถึงขั้นตอนการประดิษฐ์ว่า หลังปรึกษาคุณครูแล้วก็ช่วยกันหาอุปกรณ์ด้วยงบประมาณที่พวกเราเก็บสะสมไว้จำนวน 1,400 บาท เริ่มที่การหาถังขยะทรงสูง มีล้อ ฝาปิดถังขยะครึ่งวงกลม ท่อพีวีซีขนาดกลาง ข้องอ 2 ตัว ข้อต่อสามทาง 2 ตัว กระป๋อง สติ๊กเกอร์ ปากกาเคมี เลื่อย สว่าน คัตเตอร์ ดินสอ ไม้บรรทัด ไม้อัดอย่างบาง 1 แผ่น นอตยึดถังขยะ 15 ตัว ลวด 1 ม้วน ถุงดำใหญ่ 1 ใบ และชุดวงจรเสียงพูดได้
เมื่อได้อุปกรณ์ครบแล้ว ก็เริ่มต้นตัดไม้อัดเพื่อทำเป็นกลไกการแยกขยะแบบคานและความสมดุลตามหลักวิทยาศาสตร์ให้พอดีกับความกว้างของปากถังขยะ เจาะรูด้านข้างถังขยะและใช้เหล็กเส้นสอดผ่านเพื่อเป็นแกนหมุนเล็กๆ สอดผ่านเหล็กเส้นแกนหมุน และติดท่อนเหล็กบนไม้กระดานเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้สมดุล จากนั้นตัดไม้อัดเพื่อทำเป็นกลไกแยกขยะแบบฝาเปิดบานพับขนาดเท่าเดิม เจาะรูสำหรับให้ขยะตกลงไปเป็นช่องพอประมาณ ติดบานพับขนาดเล็ก และใช้สปริงอ่อนดึงฝาเปิดให้กลับคืน
สำหรับแขนหุ่นยนต์ ใช้ท่อพีวีซีต่อเข้ากับข้อต่องอและข้อต่อสามทาง จากนั้นใช้นอตจับยึดหัวและแขนติดกับตัวหุ่นยนต์ให้แน่น เจาะรูบนฝาปิดถังขยะหุ่นยนต์ ใช้นอตขันยึดวงจรเสียง ลำโพง แบตเตอรี่ให้แน่น ติดสวิตช์ด้านในฝาเปิดถังขยะเพื่อให้สวิตช์เสียงทำงานทุกครั้งที่มีขยะตกลงไป
เมื่อนำมาทดลองปรากฏว่าหุ่นยนต์สามารถแยกขยะตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี จึงนำมาตกแต่งให้ดูสดใสสวยงาม น่ารัก ให้เหมือนลักษณะตัวการ์ตูนเพื่อสร้างความสนใจให้เด็กนักเรียนมาทิ้งขยะมากขึ้น
"พวกผมภูมิใจมากครับ ต่อไปจะพัฒนาถังขยะหุ่นยนต์แยกขยะพูดได้ให้เดินได้ ไม่ต้องเข็น และแยกขยะที่ทิ้งลงไปในถังได้มากขึ้นอีก" สามหนุ่มนักประดิษฐ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น